ประวัติโรงเรียน
|
 |
โรงเรียนเกาะสีชัง จัดการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เกิดขึ้นจากการรวมสถานศึกษาที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 2 โรงเรียน คือ โรงเรียนจุฑาทิศเทววงษ์ ที่จัดการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 กับโรงเรียนเกาะสีชังที่จัดการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เข้าด้วยกัน ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาชลบุรี เขต 3 ครั้งที่ 2/2547 เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2547 และใช้ชื่อสถานศึกษาว่า " โรงเรียนเกาะสีชัง " ประกาศ ณ วันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2547
โรงเรียนเกาะสีชัง มีประวัติความเป็นมาตามระยะเวลา ก่อน - หลัง ดังนี้
วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 มีการจัดตั้งโรงเรียนประชาบาลประจำตำบลท่าเทววงษ์ 1 (เทวราษฎ์บำรุง) โดยคุณพระรักษาชายเขตต์ ปลัดกิ่งอำเภอเกาะสีชัง กับขุนนครเขตต์เกษมศรี หัวหน้าตำรวจภูธรกิ่งอำเภอเกาะสีชัง และข้าราชการ พ่อค้าประชาชน ได้เรี่ยไรเงินมาสมทบกับงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการเป็นเงินทั้งสิ้น 3,785.65 บาท เริ่มก่อสร้างอาคารเรียนหลังแรก ในปี พ.ศ. 2475 แล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2476 (ภายหลังใช้เป็นสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอเกาะสีชัง) จัดการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โดยมี นายสืบ พิมพ์มณี เป็นครูใหญ่คนแรก
วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2487 มีการจัดตั้งโรงเรียนประชาบาลประจำตำบลท่าเทววงษ์ (ปัญจมราชอนุสรณ์) ขึ้นในบริเวณพระจุฑาธุชราชฐาน ซึ่งเป็นพระราชวังเดิมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 สาเหตุที่ต้องมีการจัดตั้ง เนื่องจากมีเด็กนักเรียนจำนวนมากที่อยู่ในบริเวณโรงงานย่อยหินใกล้กับพระจุฑาธุชราชฐาน เพราะโรงเรียนประชาบาลประจำตำบล ท่าเทววงษ์ 1 (เทวราษฎร์บำรุง) นั้นไม่สามารถขยายตัวได้ และระยะห่างจากโรงเรียนประชาบาลประจำตำบลท่าเทววงษ์ 1 (เทวราษฎ์บำรุง) อยู่ห่างไกลประมาณ 2.5 กิโลเมตร
วันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2488 มีการจัดตั้งโรงเรียนประชาบาลประจำตำบลท่าเทววงษ์ 2 (วัดจุฑาทิศธรรมสภาราม) โดยใช้ศาลาการเปรียญของวัดจุฑาทิศธรรมสภารามวรวิหารเป็นอาคารเรียน
ปี พ.ศ. 2492 ประกาศยุบโรงเรียนประชาบาลประจำตำบลท่าเทววงษ์ (ปัจมราชอนุสรณ์) เนื่องจากโรงงานย่อยหินลดลง จำนวนนักเรียนลดลง และตัวอาคารก็ทรุดโทรมมาก ในปีเดียวกันนี้ โรงเรียนประชาบาลประจำตำบลท่าเทววงษ์ 2 (วัดจุฑาทิศธรรมสภารามวรวิหาร) ได้รับการเปลี่ยนชื่อมาเป็นโรงเรียนประชาบาลประจำตำบลท่าเทววงษ์ 2 (ปัญจมราชอนุสรณ์)
ปี พ.ศ. 2496 มีการเปลี่ยนแปลงชื่โรงเรียนเพื่อความเหมาะสม ดังนี้
โรงเรียนประชาบาลประจำตำบลท่าเทววงษ์ 1 (เทวราษฎร์บำรุง) เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนท่าเทววงษ์ (เทวราษฎร์บำรุง)
โรงเรียนประชาบาลประจำตำบลท่าเทววงษ์ 2 (ปัญจมราชอนุสรณ์) เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนวัดจุฑาทิศธรรมสภาราม (ปัญจมราชอนุสรณ์)
ปี พ.ศ. 2499 มีการจัดตั้งโรงเรียนมัธยมศึกษา สายสามัญ จัดการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในระยะเริ่มต้นอาศัยจัดการศึกษาอยู่ในโรงเรียนท่าเทววงษ์(เทวราษฎร์บำรุง) ต่อมาได้ปลูกสร้างอาคารพิเศษภายในที่ดินของนายแป๋ว ฉายอรุณ ซึงบริจาคที่ดินให้จำนวน 2 ไร่ 2 งาน 87 ตารางวา (บริเวณที่ว่าการอำเภอเกาะสีชัง ในปัจจุบัน)
เดือนเมษายน พ.ศ. 2501 โรงเรียนท่าเทววงษ์ (เทวราษฎร์บำรุง) ได้รับงบประมาณ 100,000 บาท เพื่อสร้างอาคารไม้ชั้นเดียว ยกพื้น จำนวน 5 ห้องเรียน (ต่อมาเป็นอาคาร 1โรงเรียนจุฑาทิศเทววงษ์) โดยสร้างในที่ดินบริจาคของนางโห โอศิริ และผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 ที่ดินเนื้อที่ 3 ไร่ 3 งาน 98 ตารางวา และได้ย้ายนักเรียนมาเรียนในอาคารหลังใหม่นี้ ในวันที่ 12 เดือน มกราคม พ.ศ. 2502 จึงทำให้มีการย้ายที่ตั้งของโรงเรียนท่าเทววงษ์ (เทวราษฎร์บำรุง) ตั้งแต่นั้นมา
ปี พ.ศ. 2503 โรงเรียนเกาะสีชัง ซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาในขณะนั้น ต้องเปลี่ยนมาเป็นโรงเรียนที่จัดการศึกษาระดับประถมศึกษาตอนปลาย (ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 ตามการเปลี่ยนแปลงของแผนการศึกษาชาติ พุทธศักราช 2503
วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2508 โรงเรียนวัดจุฑาทิศธรรมสภาราม (ปัญจมราชอนุสรณ์) ซึ่งเดิมอยู่ที่ศาลาการเปรียญวัดจุฑาทิศธรรมสภารามวรวิหาร ได้ย้ายมาอยู่ที่อาคารชั้นเดียวยกพื้น ขนาด 7 ห้องเรียน (ต่อมาเป็นอาคาร 2 โรงเรียนจุฑาทิศเทววงษ์) ซึ่งพระครูสาธิตธรรมนาถ เป็นผู้ติดต่อของบประมาณจากทางราชการ จำนวนเงิน 200,000 บาท ในที่ดินบริจาคของนางโห โอศิริ จำนวน 1 ไร่เศษ เนื่องจากศาลาการเปรียญวัดจุฑาทิศธรรมสภารามวรวิหารเริ่มคับแคบไม่เหมาะสม จึงทำให้โรงเรียนท่าเทววงษ์ (เทวราษฎร์บำรุง) และโรงเรียนวัดจุฑาทิศธรรมสภาราม(ปัญจราชอนุสรณ์) ได้ย้ายมาอยู่ภายในบริเวณที่ติดต่อเป็นพื้นที่เดียวกัน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508 เป็นต้นมา
ปี พ.ศ. 2503 โรงเรียนเกาะสีชังได้รับงบประมาณจากกรมสามัญศึกษา เพื่อสร้างอาคารเรียนแบบสามัญ 008 จำนวน 5 ห้องเรียน ครึ่งหลัง (ปัจจุบันเป็นอาคารปฏิบัติการ) ในที่ดินที่ได้รับบริจาคจากสโมสรเกาะสีชัง 2 งวด จำนวน 4 ไร่ และนางกิมไล้ ทองจรูญ นางสุนีย์ หันตะวงษ์ จำนวน 2 ไร่ รวมเป็น 6 ไร่ เปิดใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2514
ปี พ.ศ. 2515 โรงเรียนเกาะสีชัง ได้รับบริจาคที่ดินจากนายบรรเยาว์ พงษ์เลื่องธรรม และนายเกรียงไกร พงษ์เลื่องธรรม จำนวน 8 ไร่ คิดเป็น 20,000 บาท โดยการประสานงานของนายบรรลือ รักวงศ์อาชีพ และได้รับการบริจาคที่ดินจากนางกิมไล้ ทองจรูญ และนางสุนีย์ หันตะวงษ์ อีกจำนวน 2 ไร่ ทำให้โรงเรียนเกาะสีชัง มีที่ดินทั้งหมดประมาณ 16 ไร่เศษ
วันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2518 กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศยุบโรงเรียนประถมศึกษาตอนปลาย (ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 7) และประกาศตั้งโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น (ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3) สายสามัญชื่อ " โรงเรียนเกาะสีชัง " ในปีเดียวกันองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี ได้ประกาศรวมโรงเรียนท่าเทววงษ์ (เทวราษฎร์บำรุง) และโรงเรียนวัดจุฑาทิศธรรมสภาราม (ปัญจมราชอนุสรณ์) เข้าด้วยกันเนื่องจากตั้งอยู่ในเขตพื้นที่เดียวกัน และตั้งชื่อใหม่ว่า โรงเรียนจุฑาทิศเทววงษ์ จัดการศึกษาตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 โดยมีนายประสูตร เชียงเถียร เป็นครูใหญ่คนแรก
ปี พ.ศ. 2519 โรงเรียนเกาะสีชัง สร้างสนามฟุตบอลโรงเรียนภายในที่ดินของโรงเรียนด้วยเงินบริจาคของสโมสรเกาะสีชัง เจ้าพ่อเขาใหญ่ แห่งละ 5,000 บาท และบริษัทเอสโซ่สแตนดาร์ดศรีราชา 4,000 บาท รวม 14,000 บาท
ปี พ.ศ. 2520 โรงเรียนเกาะสีชัง สร้างอาคารอเนกประสงค์ โดยใช้เงินบริจาคสมาคมผู้ปกครองและครูเกาะสีชัง และเอกชนต่างๆเป็นเงิน 202,700 บาท
ปี พ.ศ. 2521 โรงเรียนเกาะสีชัง ได้รับงบประมาณจากกรมสามัญศึกษาเพื่อสร้างอาคารเรียนแบบ 106 ต. จำนวน 1 หลัง เป็นเงิน 1,000,000 บาท
วันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2523 โรงเรียนเกาะสีชัง ได้ขยายที่ดินเพิ่มอีก 3 ไร่ ด้วยเงินบริจาคจากศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่ จำนวน 20,000 บาท
ปี พ.ศ. 2531 โรงเรียนเกาะสีชัง ได้รับงบประมาณจัดสร้างโรงฝึกงานแบบ 102/27 จำนวน 1 หลัง จำนวนเงิน 1,119,000 บาท
ปี พ.ศ. 2538 โรงเรียนเกาะสีชัง ได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารเรียนแบบ 216 ล (ปรับปรุง 29) จำนวน 1 หลัง จำนวนเงิน 11,119,000 บาท และได้รับงบประมาณตามโครงการปฏิรูปการศึกษา จำนวน 1,000,000 บาท เพื่อปรับปรุงโรงเรียน และในปี พ.ศ. 2538 เช่นกัน โรงเรียนจุฑาทิศเทววงษ์ ได้รับงบประมาณสร้างอาคารอเนกประสงค์ แบบ สปช.205/26 งบประมาณ 1,200,000 บาท จำนวน 1 หลัง
ปี พ.ศ. 2540 โรงเรียนเกาะสีชัง ได้รับงบประมาณ จำนวน 1,004,700 บาท เพื่อเป็นค่าครุภัณฑ์วิทยาศาสตร์ตอนปลาย และค่าครุภัณฑ์คอมพิวเตอร์ เพื่อการเรียนการสอน
ปี พ.ศ. 2540 โรงเรียนจุฑาทิศเทววงษ์ ได้รับงบประมาณ จำนวน 2,393,800 บาท เพื่อจัดสร้างอาคารเรียนแบบ สปช.105/29 2 ชั้น 4 ห้องเรียน และต่อมาโรงเรียนได้รับงบสนับสนุนต่อเติมชั้นอีก 3 ห้องเรียน และได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก อบจ.ชลบุรีสร้างห้องสมุดอีก 1 ห้อง
ปี พ.ศ. 2546 โรงเรียนเกาะสีชัง ได้รับงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี เพื่อปรับปรุงห้องน้ำ ห้องโสตทัศนูปกรณ์ และปูกระเบื้อง จำนวนเงิน 3,021,600 บาท
วันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2547 โรงเรียนจุฑาทิศเทววงษ์ และ โรงเรียนเกาะสีชัง ถูกรวมเป็นโรงเรียนเดียวกัน ตามมติการประชุมคณะกรรมการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาชลบุรี เขต 3 ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2547 เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2547 โดยใช้ชื่อสถานศึกษาว่าา " โรงเรียนเกาะสีชัง "
ปี พ.ศ. 2550 โรงเรียนเกาะสีชัง ได้รับงบประมาณจากองค์บริหารส่วนจังหวัดชลบุรี สร้างอาคารเรียนแบบ คสล. 3 ชั้น ใต้ถุนโล่ง 8 ห้องเรียน งบประมาณ 8,400,000 บาท
ปี พ.ศ. 2553 โรงเรียนเกาะสีชัง ได้รับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ประจำปีงบประมาณ 2553 จากจังหวัดชลบุรี งบประมาณ 50,000 บาท และได้รับเงินบริจาคสร้างรั้วด้านทิศใต้ จากนายประสิทธิ์ หมื่นศรี จำนวนเงิน 70,000 บาท
ปี พ.ศ. 2556 โรงเรียนเกาะสีชัง ได้รับการสนับสนุนงบประมาณซ่อมแซมอาคารเรียน 008 ซึ่งเป็นอาคารไม้ชั้นเดียว จากองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี เป็นจำนวนเงิน 1,520,000 บาท
ปี พ.ศ. 2558 โรงเรียนเกาะสีชัง ได้รับการสนับสนุนงบประมาณโครงการก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์ ประจำปีงบประมาณ 2555 จากองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี เป็นจำนวนเงิน 5,612,000 บาท
ปี พ.ศ. 2559 โรงเรียนเกาะสีชัง ได้รับการสนับสนุนงบประมาณซ่อมแซมอาคารเรียน อบจ.2550 (ประจำปีงบประมาณ 2558) ซึ่งเป็นแบบ คสล. 3 ชั้น ใต้ถุนโล่ง 8 ห้องเรียน เป็นจำนวนเงิน 2,338,900 บาท
ปี พ.ศ. 2559 โรงเรียนเกาะสีชัง ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงมหาดไทยในโครงการปรับปรุงสนามเด็กเล่นโรงเรียนเกาะสีชัง เป็นจำนวนเงิน 617,880 บาท |